เกาะช้าง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ในทะเลอ่าวไทย และเป็นเกาะที่ใหญ่อันดับ 2 ในรองเพียงเกาะภูเก็ตอยู่ในเขตจังหวัดตราด มีเกาะบริวารกว่า 52 เกาะ มองจากด้านบนเหมือนรูปโขลงช้าง จึงได้ชื่อว่า เกาะช้าง
โอ้ทะเลแสนงาม ฟ้าสีครามสดใส มองเห็นเรือใบ แล่นอยู่ในทะเล…
เสียง เพลงที่คุ้นหูดังขึ้นทุกครั้งที่ได้มีโอกาสมาใกล้ชิดทะเล และหวนนึกถึงทริปทะเลมากมายที่มีเคยไปเที่ยวมา ทั้งที่เมื่อนานมาแล้วและเมื่อไม่นานมานี้
เพื่อนๆ คงเคยไปเที่ยวทะเลแล้วออกไปดำน้ำกันใช่ไหมครับ? คือนั่งเรือออกไปดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นหรือที่เรียกว่าการดำแบบผิวน้ำ (Snorkeling) เรือจะไปจอดทอดสมอตามจุดดำน้ำ ตามเกาะ ตามอ่าวต่างๆ หรือโคดหินรอบๆ เกาะในทะเล เรียกว่าพอเรือจอดสนิท ก็รีบคว้าหน้ากาก (Mask) ท่อหายใจ (Snorkel) เสื้อชูชีพ แล้วกระโดดลงทะเลกันไป ดำน้ำดูปะการังกันทั้งวันจนตัวดำ ผมก็ไปแบบนี้ ต้องลงเรือร่วมไปกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร มันก็เป็นรูปแบบกิจกรรมหนึ่งสำหรับการท่องเที่ยวทางทะเล แต่สำหรับเด็กคนหนึ่ง ที่ไม่เคยสัมผัสกับการดำน้ำ มันถือเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเลยก็ว่าได้
ผมลองนึกย้อนกลับไปวัยเด็ก ผมมีโอกาสได้ไปดำน้ำที่หมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งเป็นการดำน้ำครั้งแรกในชีวิตที่ได้ไปกับครอบครัว ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ตื่นเต้นและก็แฝงไปด้วยความกลัวเจือปนเข้ามาด้วย กลัวทุกอย่าง กลัวคลื่น กลัวการเดินทาง แล้วก็กลัวปลาฉลาม 555 นึกขึ้นแล้วก็ขำ มันน่าจะมาจากการได้ดูหนังเรื่อง JAW มากไปหน่อย แล้วการลงไปดำน้ำครั้งแรกของผมในวัยเด็กก็ไม่พลาดที่จะนึกถึงปลาฉลามจริงๆ พอดำลงไปแล้วจะหดขาขึ้นมาไม่กล้ายืดขาลงไป กลัวฉลามครับ ต้องคอยก้มดำน้ำไปดูว่ามีตัวอะไรใต้น้ำ แต่เพียงชั่วแว๊บเดียว พอลงน้ำได้ไม่นานก็เริ่มคุ้นเคย ความกลัวก็จะค่อยๆ หายไป อาจเป็นเพราะความสวยงามของโลกใต้ทะเลก็ว่าได้ และมันก็ทำให้เกิดความประทับใจสำหรับการได้เปิดประสบการณ์ดำน้ำครั้งแรกของผม ทั้งตื่นเต้น สวยงาม และน่ากลัว (ปลาฉลาม) 555 … มาถึงตอนนี้ลูกชายผม 8 ขวบแล้ว สามารถดูแลตัวเองในน้ำได้ระดับหนึ่งจากการเรียนว่ายน้ำมาสักพัก และผมก็คิดว่ามันถึงเวลาที่จะเปิดประสบการณ์แปลกใหม่จากการดำน้ำให้เป็นของขวัญรับปิดเทมอใหญ่แล้วล่ะครับ
ทริปนี้เราเลือก “เกาะช้าง” ครับ สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อาจจะมีวันลายาวๆ ที่ไม่ตรงกันซะทีเดียว และการเดินทางที่ไม่ยากลำบากเหมือนลงไปทางภาคใต้ จากการได้หาข้อมูลก็พบว่าช่วง มี.ค.-เม.ย. น้ำทะเลที่เกาะช้างก็ยังใสอยู่ ว่าแล้วก็ล้อหมุนกันเลยดีกว่าคร๊าบบบบบ
ชูวี๊ดูหว่า จะพาเธอไปดำน้ำดูปลาการ์ตูน ชูวี๊ดูหว่า จะพาเธอไปโต้คลื่น เอาให้หมดแรง ….
เราออกเดินทางจากรุงเทพฯ แต่เช้า แต่ก็ไม่ได้รีบร้อนอะไร เป้าหมายคือท่าเรือข้ามฝากที่อ่าวธรรมชาติจังหวัดตราด แต่ก่อนจะข้ามฝากไป เราก็แวะเที่ยวโบสถ์คาทอลิกวัดแม่พระปฏิสนธินิรมล ที่จันทบุรีกันก่อน
“โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล” หรือที่เรียกว่า “โบสถ์คริสต์เมืองจันทร์” เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งเดียวในจันทบุรี อยู่ที่เดียวกับโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค ยอดหลังคาเเหลมสูง ภายในตกแต่งด้วยกระจกสีที่เรียกว่า สเตนกลาส ด้านหน้าโบสถ์เป็นรูปปั้นพระแม่มารีสีหน้าสงบเปี่ยมประกายเมตตา ด้านในอาคารที่เป็นโถงโล่ง ตกแต่งด้วยโทนสีชมพู มีทางเดินเป็นชั้นลอยอยู่ทั้งสองข้าง มีช่องแสงจากหน้าต่างกระจกสี ที่นี่ถือเป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีความเก่าแก่และมีความงดงามที่สุดแห่งหนึ่งครับ
เราได้ภาพจากด้านนอกโบสถ์เป็นหลักครับ เพราะจังหวะที่เราไปเป็นจังหวะที่มีงานแต่งงานภายในโบสถ์พอดี เราจึงไม่สะดวกนักที่จะเก็บภาพจากด้านในมาได้ แต่เราก็เพลิดเพลินกับความสวยงามของโบสถ์จากด้านนอกกันไม่น้อย และหลังจากที่โบสถ์เราก็มุ่งหน้าสู่ท่าเรือเฟอร์รี่ อ่าวธรรมชาติกันเลย การเดินทางมาเกาะช้างสะดวกสบาย เป็นเรือขนาดใหญ่สามารถนำรถข้ามฝากไปได้ ใช้เวลาเพียง 30 นาที ปัจจุบันถนนหนทางบนเกาะช้างก็ราดยางหมดแล้ว มีบ้างที่บางช่วงก็ยังค่อนข้างเล็กอยู่ เราเลือกพักกันที่ “หาดบางเบ้า” อยู่ทางขวาสุดของเกาะครับ เพราะทริปนี้เราจะเน้นดำน้ำอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องขึ้นเรือที่บางเบ้า ไม่อยากเดินทางไปมาให้วุ่นวาย
หาดบางเบ้าอยู่ห่างจากท่าเรือมาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะช้าง ประมาณ 25 กิโลเมตร มีถนนลัดเลาะไปตามไหล่เขา ค่อนข้างคดเคี้ยวและลาดชันในบางช่วง อยู่ถัดไปจากหาดใบลาน หาดบางเบ้า เรียกกันคุ้นหูอีกชื่อหนึ่ง คือ “ชุมชนประมงบางเบ้า” นักท่องเที่ยวจะได้เห็นวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวประมงขนาดเล็ก จะเห็นการสร้างบ้านแบบปักเสาลงไปในทะเล แล้วมีสะพานเชื่อมต่อกันตลอดแนว ชาวประมงที่นี่นิยมจับปลาหมึกหอม แต่เมื่อความเจริญมีมากขึ้นการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย และที่นี่ก็จัดว่าเป็นจุดชมอาทิตย์ตกได้สวยงามอีกแห่งบนเกาะช้าง มีลักษณะเป็นหาดหินสลับกับหาดทรายในบางช่วง ด้วยลักษณะที่เป็นเหมือนหมู่เกาะโอบล้อมสองด้าน จึงเหมาะสำหรับการจอดเรือ
วันแรกเราถึงที่พักประมาณ 4 โมงเย็น ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เอาตัวลงไปใกล้ชิดทะเล ใครจะเล่นน้ำก็เล่นไป ส่วนผมขอเก็บภาพบรรยากาศชายหาดบางเบ้ามาฝากกันก่อนที่จะนอนเอาแรง เพราะพรุ่งนี้จะต้องดำน้ำกันทั้งวัน
ปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนมาก สมัยนี้รายการสารคดีเกี่ยวกับโลกใต้ทะเลมีมากมาย รายการท่องเที่ยวที่พาไปดำน้ำก็มีให้เห็นเยอะแยะ มันเปรียบเสมือนการกระตุ้นความอยากไปดำน้ำให้กับคนที่ได้ชมมากขึ้นเป็นทวีคูณ ภาพที่เราเห็นในทีวีมันช่างสวยงามเรียกว่าสวรรค์ใต้น้ำเลยก็ว่าได้ นั่นก็เพราะคุณภาพของอุปกรณ์เก็บภาพใต้น้ำและอุปกรณ์กันน้ำที่ดีขึ้นมาก แต่ก็ราคาแสนสาหัสครับ รุ่งเช้าเรามาแวะรอถ่ายภาพกับแสงยามเช้ากันเล็กน้อยก่อนที่จะออกไปน้ำดำ
ทริปนี้เราซื้อ package ดำน้ำมาจากกรุงเทพฯ ด้วยการโทรมาจองไว้ราคาท่านละ 550 บาท พอมาถึงก็มีการโทรยืนยันกันเล็กน้อย ก่อนที่เราจะมาถึงท่าเรือเวลา 9 โมงเช้า เพื่อลงเรือพร้อมๆ กัน เรือที่จะพาเราไปดำน้ำทริปนี้เป็นเรือไม้ 2 ชั้นขนาดใหญ่ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ 200 คน สบายๆ แต่วันนี้เป็นวันอาทิตย์ นักท่องเที่ยวจึงมีเพียง 80 คน ได้ไปดำน้ำ 4 เกาะ เกาะยักษ์เล็ก เกาะรัง เกาะยักษ์ใหญ่ และเกาะหวาย พอเรือออกได้สักพักเจ้าหน้าที่ก็จะแจกสน็อคเกิล พร้อมทั้งอธิบายการใช้งานคร่าวๆ แต่หลักๆ จะเน้นว่าถ้าหล่นน้ำ ให้รีบเรียกเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยดำลงไปเก็บ และจะต้องดูแลและคืนตอนจบ หากสูญหายจะต้องชำระ 1,200 บาท นี่ล่ะสาระสำคัญ ^^
การมาดำน้ำในทริปนี้ค่อนข้างโชคดีที่ฟ้ายังเปิดและไม่มีเมฆฝนมาบังแสงเลย มีคนเคยบอกว่าการดำน้ำจะสวยหรือไม่สวยนั้น ขึ้นอยู่กับโชคด้วย หากลมแรง เมฆเยอะ ฟ้าไม่ใส โอกาสที่เราจะได้เจอความสวยงามใต้ทะเลก็ยาก ถึงแม้จะเดินทางมาถึงสิมิลันก็ตาม แต่หากฟ้าเปิด ลมไม่แรง ไม่มีขี้เมฆ มันจะทำให้การดำน้ำไม่ว่าที่ใดสวยขึ้นเป็นกองเลยครับ จึงพอสรุปได้ว่า นอกจากเราควรไปให้ถูกที่แล้ว เราควรจะไปให้ถูกเวลาด้วยนอกนั้นก็เป็นเรื่องของโชคแล้วว่าสภาพอากาศวันนั้นจะเป็นเช่นไร
ทริปนี้เราได้เก็บภาพใต้น้ำมาไว้เป็นที่ระลึกด้วย เกาะยักษ์เล็ก เกาะรัง เกาะยักษ์ใหญ่ และเกาะหวาย แต่เป็นภาพที่ถ่ายจากกล้องมือถือที่เราใส่เคสกันน้ำลงไปถ่ายครับ
Shutter Tips
การถ่ายภาพแสงอาทิตย์ให้เป็นแฉก
การถ่ายภาพพระอาทิตย์หรือภาพแสงไฟให้มีลักษณะเป็นประกายแฉกไฟ เปรียบเสมือนการเพิ่มเสน่ห์หรือลูกเล่นให้กับภาพถ่าย มีเทคนิคมากมายหลายวิธี ผู้เขียนมีเทคนิคส่วนตัวที่จะมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ ลองไปใช้กันดู ดังนี้
1. เลือกใช้โหมด M ในการถ่ายภาพ เราจะใช้ค่ารูรับแสงที่แคบ (f16-22 ขึ้นไป) โดยเราจะกำหนดค่าความเร็วม่านซัตเตอร์ (Speed Shutter) ด้วยตนเอง เพื่อจะได้ไล่แสงที่ถูกใจตามต้องการได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนตัวจึงคิดว่าโหมด M จะสะดวกที่สุดในการที่จะเพิ่มหรือลดค่า Speed Shutter
2. เลือกระบบวัดแสงเฉพาะจุด เนื่องด้วยการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกจะมีสภาพแสงเปรียบต่างที่ค่อยข้างมาก ภาพที่ได้มีโอกาสที่จะสว่างหรือมืดจนเกินไป ส่วนตัวจึงเลือกใช้ระบบวัดแสดงเฉพาะจุดไปเลย โดยอาจจะเลือกวัดแสงบริเวณรอบๆ ดวงอาทิตย์ ซึ่งหากมืดหรือสว่างเกินไป เราก็ใช้วิธีปรับตั้งค่า Speed Shutter
3. การตั้ง ISO ให้ตั้งน้อยที่สุด โดยไล่ตั้งแต่ ISO100 หลักง่ายๆ คือ พยายามให้ Speed Shutter เร็วพอที่เราสามารถยืนถ่ายด้วยมือเปล่าได้ คือไม่ต่ำกว่า 1/50 หากช้ามากจะทำให้ภาพสั่น เราก็สามารถดัน ISO เพิ่มขึ้นไปได้
4. เมื่อได้มุมที่จะถ่ายและตั้งค่าของกล้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ถ่ายภาพควรสังเกตุจากในกล้องระหว่างถ่ายภาพว่า แสงแฉกที่ได้สวยงามเป็นที่พอใจรึยัง แนะนำให้ลองขยับมุมกล้องทีละนิด (ขอย้ำว่าขยับทีละนิด) เพื่อลองหามุมภาพที่จะรีดแสงแฉกออกมาสวยงามตามที่เราต้องการ
http://travel.mthai.com/region/east/82103.html